
ตาเข ตาเหล่ คือ สภาวะที่ลูกตาทั้ง 2 ข้างไม่ขนานกันและทำงานไม่ประสานกัน เมื่อเวลามองวัตถุเดียวกัน โดยผู้ป่วยจะใช้เพียงตาข้างที่ปกติจ้องวัตถุ ส่วนข้างที่เหล่ อาจเบนเข้าด้านในหรือด้านนอก ขึ้นบนหรือลงล่าง
ตาเหล่เทียม (Pseudostrabismus) ตาเหล่เทียมมักพบในเด็กที่บริเวณสันจมูกยังโตไม่เต็มที่ และบริเวณหัวตากว้าง (Epicanthus) จึงแลดูคล้ายตาเหล่เข้าใน แต่โดยจริงแล้วไม่ได้ตาเหล่ เมื่อเด็กโตขึ้นดั้งจมูกสูงขึ้น ภาวะตาเหล่นี้จะหายไป
หลายสาเหตุอาการตาเหล่
- เกิดจากพันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวตาเหล่
- กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต เนื่องจากกล้ามเนื้อตาหดตัวผิดปกติ มีการอักเสบ เช่น ผู้ที่ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือประสบอุบัติเหตุ ย่อมสามารถเกิดภาวะเหล่านี้ หรืออาจเกิดจากเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อตาทำงานผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- สายตาผิดปกติ เช่น สายตายาว เด็กจะแก้ไขให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยการเพ่งทำให้เกิดตาเหล่เข้าใน
- มีโรคภายในลูกตา ทำให้ตาข้างนั้นเห็นไม่ชัด เช่น เป็นมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก หรือ เป็นต้อกระจก โดยในเด็กมักเกิดตาเหล่เข้าใน แต่ในผู้ใหญ่มักเหล่ออกนอก
พบอาการตาเหล่ในวัยเด็ก
ควรปรึกษาจักษุแพทย์ทันที ความเข้าใจที่ว่าเด็กโตขึ้น ภาวะตาเหล่จะหายเองเป็นการเข้าใจที่ผิด ตาเหล่ในเด็กบางรายอาจซ่อนโรคที่ร้ายแรง เช่น โรคมะเร็งจอประสาทตา ซึ่งควรได้รับการรักษาทันที นอกจากนั้น ตาเหล่ในเด็ก อาจทำให้เกิดตาขี้เกียจ (Amblyopia) ในตาข้างที่เหล่ คือ ตาข้างที่เหล่จะมัวลงซึ่งใช้แว่นแก้ไขแล้วไม่ดีขึ้นและตรวจไม่พบโรคทางตา เกิดจากสมองที่กำลังพัฒนาไม่ได้รับการกระตุ้นจากภาพที่ชัดในช่วงที่มีพัฒนาการ คือ แรกเกิดถึง 2 ปี ดังนั้น การรักษาตาเหล่ในเด็กในเวลาที่เหมาะสม นอกจากจะทำให้ตาตรงแล้ว ยังทำให้เด็กมีพัฒนาการมองเห็นภาพได้ปกติ
ตาเหล่ในช่วงผู้ใหญ่
• ในกรณีที่เป็นตั้งแต่เด็ก การรักษาผ่าตัดให้ตาตรงจะได้ประโยชน์ในแง่บุคลิกที่ดีขึ้น แต่ถ้ามีตาขี้เกียจร่วมด้วย
• โรคตาเหล่ที่เกิดในวัยผู้ใหญ่มักเกิดจากโรคทางสมอง ดังนั้นควรรีบพบแพทย์ทันที เมื่อมีตาเหล่ในผู้ใหญ่เพื่อหาสาเหตุ
ปรับมุมมองให้สายตา แก้ตาเข ตาเหล่
การรักษาตาเหล่มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของโรค ตาเหล่บางชนิดสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด บางชนิดรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น หรืออาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน
การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด
- การให้แว่นสายตา ใช้รักษาในผู้ป่วยตาเหล่ที่มีสาเหตุมาจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตายาวที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเหล่เข้า หรือ สายตาสั้นที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเหล่ออก
- ให้แว่น prism ซึ่งช่วยหักเหแสงให้ตกลงพอดีที่จุดรับภาพที่จอตา
- การฝึกกล้ามเนื้อตา
- การรักษาด้วยยา เช่น การฉีดโบท็อกช์ (Botulinum Toxin) โดยฉีดที่กล้ามเนื้อตา ทำให้กล้ามเนื้อมัดนั้นอ่อนแรง มีฤทธิ์อยู่นานประมาณ 2-3 เดือน
- การรักษาตาขี้เกียจ (Amblyopia) ในเด็กตาเหล่ที่มีภาวะตาขี้เกียจ จำเป็นต้องรีบให้การรักษาทันที และต้องรักษาก่อนที่จะผ่าตัดแก้ไขตาเหล่ และควรรักษาช่วงก่อนที่เด็กจะอายุมากกว่า 7 ปี ซึ่งเมื่อเด็กอายุมากกว่า 8-9 ปีขึ้นไปมักรักษาไม่ได้ผลแล้ว ตาข้างนั้นก็จะมัวอย่างถาวร การรักษาตาขี้เกียจทำโดยการปิดตาข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจได้ใช้งาน ควรปิดตาอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง จนกว่าสายตาทั้งสองข้างจะมองเห็นปกติแต่ละรายอาจใช้เวลาไม่เท่ากัน
การรักษาโดยการผ่าตัด
เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา ทำให้ตาตรง เละให้ผลดีทางด้านการทำงานของตาด้วย การผ่าตัดโรคตาเหล่ในเด็ก หากตรวจเช็คว่ามีภาวะโรคตาเหล่เพียงอย่างเดียว ไม่มีความผิดปกติในส่วนอื่นๆ เช่น ประสาทตาปกติดี ไม่พบภาวะตาขี้เกียจ ก่อนผ่าตัดจักษุแพทย์จะทำการตรวจเช็คมุมเหล่ของสายตา จากนั้นดมยาสลบเพื่อทำการผ่าตัด ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ไม่เป็นอันตราย สามารถทำการผ่าตัดได้ในเด็กเล็ก การผ่าตัดรักษาโรคตาเหล่ในเด็ก นอกจากจะช่วยให้ตาตรง กลับมาสวยงาม ยังช่วยทำให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในกรณีที่เป็นโรคตาเหล่ตั้งแต่เด็ก และถูกเปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาจนถึงวัยผู้ใหญ่นั้น การผ่าตัดจะช่วยให้ทำให้ตาตรงกลับเป็นปกติ แต่ไม่ช่วยในเรื่องการมองเห็นที่ดีขึ้น
การดูแลหลังการผ่าตัด
แพทย์จะปิดตาข้างที่ผ่าไว้ 1 วัน จากนั้นจึงเปิดใช้สายตาได้ตามปกติ สำหรับเด็กเล็กเวลานอนจะใช้ที่ครอบตาปิดเพื่อกันเด็กขยี้ตา ในช่วงสัปดาห์แรกควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา อาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้
- การผ่าตัดแทบจะไม่เห็นแผลเป็น หรือร่องรอยเลย
- ต้องพบแพทย์ตามนัด เพื่อดูอาการว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ประโยชน์ที่ได้หลังเข้าการรักษา
- ทำให้ตาดูตรงเป็นปกติ สวยงาม มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น
- รักษาเพื่อการมองเห็นทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นของตาทั้ง 2 ข้างดีขึ้น สามารถมองเห็นภาพ 3 มิติ
หลายคนเข้าใจว่าโรคตาเหล่ในเด็กสามารถหายได้เอง เมื่อเด็กโตขึ้น แต่ความจริงแล้วโรคตาเหล่ไม่สามารถหายได้เอง การที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในระยะเวลาที่เหมาะสม อาจส่งผลให้เสียประสิทธิภาพในการมองเห็นได้อย่างถาวร โรคตาเหล่ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจขึ้น ซึ่งสามารถรักษาได้หากพบอาการแต่เนิ่นๆ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมในการมองเห็นของบุตรหลานหรือพาไปตรวจเช็คสายตากับจักษุแพทย์ก่อนวัยเข้าเรียนก็จะช่วยป้องกันปัญหาได้อีกทางหนึ่ง