21 เมษายน 2566

สายตาขี้เกียจ (Lazy Eye หรือ Amblypia)

“คุณหมอคะ ลูกดิฉันจะเป็นตาขี้เกียจไหมคะ?” อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตที่จักษุแพทย์มักถูกถามบ่อยๆจากผู้ปกครองของเด็กๆ มารู้จักกับ “สายตาขี้เกียจ หรือ ตาขี้เกียจ (Lazy Eye) “ ให้มากขึ้น

สายตาขี้เกียจคืออะไร?

สายตาขี้เกียจ หมายถึง ภาวะที่ความสามารถในการมองเห็นของดวงตา ข้างใดข้างหนึ่งด้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง โดยดวงตาข้างที่เป็นสายตาขี้เกียจจะมองเห็นภาพต่าง ๆ มัวกว่าดวงตาอีกข้างที่เป็นปกติ ภาวะสายตาขี้เกียจนี้มักเกิดขึ้นในเด็กเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 -7 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจจะทำให้มีอาการตามัวเช่นนี้อย่างถาวร และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการใช้แว่นตา ทานยา หยอดยา การผ่าตัด หรือการทำเลสิกเพื่อรักษาปัญหาทางสายตา

อาการของโรคสายตาขี้เกียจ

โดยปกติแล้ว มนุษย์เราจะมีการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการทางด้านต่างๆ ตามปกติ “ดวงตา” ก็เช่นกัน จะมีการพัฒนาความสามารถในการมองเห็นโดยเริ่มตั้งแต่แรกเกิด แต่หากมีอะไรบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาและทำให้ดวงตาทั้งสองหรือข้างใดข้างหนึ่งไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเต็มที่ จะทำให้ดวงตาข้างที่ใช้น้อยนั้นมีพัฒนาการในการมองเห็นไม่เต็มที่ เพราะไม่ได้รับการกระตุ้น สมองจะสั่งการให้ตาข้างที่ไม่ชัดมองเห็นภาพไม่ชัดเจนเช่นนั้นตลอดไป โดยสมองจะจดจำว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพที่ชัดที่สุดที่สามารถมองเห็นได้แล้ว

โรคสายตาขี้เกียจนี้หากพ่อแม่คอยสังเกตพฤติกรรมของลูก และพาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ยังมีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า สายตาขี้เกียจคืออะไร จึงไม่ได้พาลูกไปเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้พลาดโอกาสในการรักษาไปอย่างน่าเสียดาย เพราะโดยมากแล้ว หากมาเข้ารับการรักษาหลังจากที่เด็กอายุเกิน 7 ปีไปแล้ว พัฒนาการของการมองเห็นจะยุติลง การรักษาให้หายขาดจึงเป็นไปได้ยาก หรือแทบจะไม่มีเลย

สาเหตุของโรคสายตาขี้เกียจ

  • สายตาขี้เกียจ จากโรคตาเหล่ : เด็กที่มีอาการตาเหล่ เช่นตาเหล่เข้าด้านใน จะเกิดการมองเห็นภาพซ้อนหากใช้ดวงตาทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน สมองจึงสั่งการให้ไม่ใช้งานในดวงตาข้างที่ผิดปกติจึงทำให้ดวงตาข้างนั้นไม่ได้รับการพัฒนาทางการมองเหมือนกับดวงตาอีกข้าง
  • สายตาขี้เกียจ จากสายตาทั้งสองข้าง สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงไม่เท่ากัน : เช่น สายตาข้างหนึ่งสั้นมากกว่าอีกข้างหนึ่ง ภาวะเช่นนี้เด็กมักจะใช้ดวงตาข้างที่มองเห็นได้ชัดกว่าเป็นหลักในการมองภาพ ส่วนอีกข้างจะถูกใช้งานน้อย หรืออาจจะไม่ได้ใช้เลย
  • สายตาขี้เกียจ จากสายตาสั้น สายตายาวหรือเอียงมากทั้งสองข้าง : ภาวะนี้อาจทำให้เกิดสายตาขี้เกียจได้ในตาทั้งสองข้าง เนื่องจากจะมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งสองข้าง
  • โรคทางตาอื่น ๆ : เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด โรคกระจกตาดำขุ่นมัว หนังตาตกมากจนปิดรูม่านตา หรือโรคเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา เป็นต้น โรคต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้แสงเดินทางผ่านเข้าไปในดวงตาไม่ดีจึงมองเห็นภาพไม่ชัด เด็กก็จะใช้ดวงตาอีกข้างที่ดีกว่าเป็นหลักในการมอง

มุมสุขภาพสายตา