3 เมษายน 2566

โรคต้อหิน หินจริงหรือเปล่า?

โรคต้อหิน ...เป็นโรคของดวงตาที่พบบ่อย และมีอันตรายอย่างมากทำให้ตาบอดสนิทได้ ถ้าไม่รักษา หรือรักษาไม่สม่ำเสมอ ส่งผลทำให้การมองเห็นแย่ลง ความกว้างของการมองเห็นแคบลง จนกระทั่งสูญเสียการมองเห็นไปทั้งหมดได้ ซึ่งการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินนั้น เป็นการสูญเสียถาวรไม่สามารถจะแก้ไขให้คืนมาได้

ต้อหิน (Glaucoma) คืออะไร

หลายคนอาจค็นเคยกับโรคต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่เลนส์ตาขุ่นมัวเหมือนกระจกฝ้า เนื่องจากเป็นความเสื่อมไปตามวัยของเลนส์ตาเมื่อมีอายุมากขึ้น แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น อุบัติเหตุหรือเป็นมาแต่กำเนิด ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน แตกต่างกับโรคต้อหิน (Glaucoma) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากความดันในลูกตาสูงขึ้นและมีการเสื่อมของประสาทตา และสูญเสียการมองเห็น เมื่อความดันในตาสูงขึ้นจะกดดันเส้นประสาทตา (optic nerve) ให้เสื่อม และหากมีความดันสูงเป็นเวลานาน ประสาทตาก็จะเสื่อมทำให้สูญเสียการมองเห็น การสูญเสียการมองเห็นจะเริ่มที่ขอบนอกของลานสายตา ส่วนตรงกลางภาพยังเห็นชัด หากไม่ได้รักษาการมองเห็นจะได้ภาพเล็กลง การเปลี่ยนแปลงจะค่อยๆเป็นโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว โดยมากมักจะเป็นสองข้าง อาจจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งก่อน

Normal Vision
Normal Vision
Intermediate Symptoms
Intermediate Symptoms
Advanced Symptoms
Advanced Symptoms

อาการของต้อหิน

เนื่องจากโรคต้อหินมีการดำเนินอย่างช้าๆ ความดันในตาค่อยๆเพิ่ม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยแสดงอาการ ที่ตรวจพบเป็นต้อหินในระยะแรกๆ นั้น สายตาจะยังปกติอยู่ ไม่มีอาการปวด หรือผิดปกติใดๆ นอกจากผู้ป่วยบางรายที่เป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการเห็นไม่ชัด เมื่อมองแสงไฟจะเห็นรุ้งกินน้ำเป็นวงๆ ปวดตา ปวดศีรษะ โรคต้อหินเป็นได้ทุกอายุ กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สายตาสั้นหรือยาวมากผิดปกติ เป็นต้น

วิธีการรักษาเป็นอย่างไร

คือการพยายามลดความดันน้ำในลูกตา โดยลดการผลิต หรือ เพิ่มการระบายน้ำ  ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การใช้ยาหยอดตา ยารับประทาน ยิงแสงเลเซอร์ และการทำผ่าตัด ในแต่ละวิธีมีข้อจำกัดในการใช้ขึ้นกับตัวผู้ป่วยและประเภทของต้อหิน

อย่างไรก็ดีการรักษาโรคต้อหินนั้น เป็นเพียงการหยุดการดำเนินโรคแต่ไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่สูญเสียไปแล้วกลับเป็นปกติได้ ดังนั้นการป้องกันและการรักษาในระยะเริ่มต้น จึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ไม่สูญเสียการมองเห็นในระยะยาว เนื่องจากโรคต้อหินในระยะเริ่มต้นนั้นไม่มีอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ป่วยทราบว่าโรคนี้ซ่อนเร้นอยู่ในร่างกาย ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงควรได้รับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอ

มุมสุขภาพสายตา