Loading...
ย้อนกลับ
Cataract Center
Laser Vision
สุขภาพตากับอายุ

สุขภาพตากับอายุ

สุขภาพตากับอายุ

     ในขณะที่ผู้สูงอายุมุ่งมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆทั้งโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง แต่อวัยวะที่ร่างกายต้องใช้ทุกวันอย่างดวงตา กลับได้รับความสนใจน้อยกว่า จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เมื่อThe International Agency for the Prevention of Blindness (IAPB) สำรวจสุขภาพตาของคนที่มีอายุ 50ปี ทั่วโลก 45 ล้านคน พบว่า 80% มักมีปัญหาเรื่องสายตาจนถึงขั้นตาบอด

 

Snellen Chart

     ความผิดปกติทางสายตาที่มีความสัมพันธ์กับอายุที่ผู้สูงวัยควรระวังได้แก่

 

    ต้อกระจก

     จะเริ่มตั้งแต่อายุ 40ต้นๆ (หรืออาจจะช้ากว่านั้น) การเกิดต้อกระจกเปรียบเสมือนฝ้าที่เกิดขึ้นบนกระจกใส ทำให้มองเห็นไม่ชัด อาการน่าสงสัยของต้อกระจกคือ ตาสู้แสงได้ไม่ดี โดยเฉพาะเวลาขับรถ 

 

    ต้อหิน

     เกิดจากความดันภายในดวงตาที่สูงกว่าปกติทำให้ดวงตาแข็งเหมือนหิน เมื่อมองจะเห็นภาพที่อยู่ตรงกลางชัดแต่กลับมองภาพบริเวณรอบๆไม่ได้ ต้อหินมี2ชนิด คือต้อหินมุมปิดและมุมเปิด เรามักพบต้อหินมุมปิดหรือต้อหินเฉียบพลันในหญิงสูงอายุ เนื่องจากผู้หญิงมักมีดวงตาเล็กกว่าผู้ชาย มักมีอาการปวดเมื่อยตามากเวลาที่ใช้สายตามากและมีอาการตาแดงก่อนตามัว แต่พอได้นอนพักผ่อนอาการต่างๆจะหายไป สามารถใช้ชีวิตได้ปกติแต่อีกไม่กี่วันก็จะกลับมีอาการใหม่ ในทางตรงกันข้ามต้อหินมุมเปิดหรือต้อหินเรื้อรัง พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงมาจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหลอดเลือด ภาวะสายตาสั้นหรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคต้อหิน ทั้งนี้ต้อหินแบบเรื้อรังอาจเป็นอันตรายมากกว่า เพราะจะไม่แสดงอาการ ดังนั้นจึงมักตรวจพบได้โดยบังเอิญ หรือกว่าจะมารักษาก็เป็นมากจนสายเกินแก้และอาจจะรุนแรงถึงขั้นตาบอด

 

    การเสื่อมของตาเนื่องจากสูงอายุ

     เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียการมองเห็น อาการเบื้องต้นคือ มองเห็นภาพรอบๆชัดแต่มองจุดภาพตรงกลางไม่ชัด ซึ่งเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อชั้นในดวงตาที่อยู่กึ่งกลางของเรตินามีความผิดปกติและส่วนหนึ่งเกิดมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคความดันโลหิตสูง โคเลสเตอรอลสูง ภาวะน้ำหนักเกินหรือสูบบุหรี่เป็นต้น

 

    จุดหรือเงาดำในตา

     ผู้สูงอายุจะเห็นเป็นจุดหรือเงาดำเล็กๆวิ่งผ่าน คล้ายกับมีแมลงหรือยุงบินผ่าน สาเหตุเกิดจากน้ำวุ้นลูกตาที่อยู่ในตาระหว่างเลนส์กับเรตินาไม่จับตัวแน่นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น แม้การมองเห็นจุดดำจะไม่มีอันตรายต่อสุขภาพตา แต่ถ้าเห็นจุดดำหรือเงาดำมากขึ้นและการมองเห็นไม่ชัดร่วมด้วย ควรจะเข้ามาพบจักษุแพทย์ทันที

     สุขภาพตาก็เหมือนสุขภาพร่างกายทั่วไปที่ควร เข้ารับการตรวจเป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และควรเข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 

ที่อยู่
Laser Vision International LASIK Center

49/5 อาคารเลเซอร์วิชั่น ซ.รัชดาภิเษก 48 ถ.รัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

ช่องทางติดต่อ
Line